Logo-CPF-small-65png

ปศุสัตว์ร่วมมือเอกชนป้องกันโรคหมูได้อยู่หมัด วอนหยุดปล่อยข่าวทุบราคาหมู

     นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคระบาดที่สำคัญในสุกรว่า ปัจจุบันภาครัฐได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชน รวมทั้งนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันการศึกษา ในการป้องกันโรคระบาดที่สำคัญในสุกร อาทิเช่น โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) เดินหน้ามาตรการเฝ้าระวังและป้องกัน 7 ด้าน ประกอบไปด้วย
1. ขึ้นทะเบียนผู้รวบรวมสุกรหรือพ่อค้าคนกลาง (broker) พร้อมสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องโรค ร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง ป้องกันโรคระบาด และสร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่การผลิต
 
2. ปรับปรุงมาตรการและหลักเกณฑ์การเคลื่อนย้ายให้ง่ายต่อการปฏิบัติ และให้มีประสิทธิภาพต่อการป้องกันโรค โดยผ่านคณะอนุกรรมการวิชาการ
 
3. ชี้แจงมาตรการและหลักเกณฑ์การเคลื่อนย้ายสุกรให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
 
4. กองสารวัตรและกักกัน ให้เข้มงวดการตรวจสอบสุกร และผลิตภัณฑ์สุกรที่จะส่งออกไปต่างประเทศ โดยให้ดำเนินการสุ่มเก็บตัวอย่าง ณ ด่านขาออก หากพบสัตว์ผิดปกติให้ดำเนินการตามที่กรมปศุสัตว์กำหนดอย่างเข้มงวด
 
5. สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการพิจารณาการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกัน ASF
 
6. สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์รวบรวมและแจ้งรายชื่อโรงฆ่าสัตว์ที่สามารถรองรับการบริหารจัดการ การดำเนินการลดความเสี่ยงต่อโรคภายในจังหวัด ส่งให้ปศุสัตว์จังหวัดดำเนินการ
 
7. บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด หากพบการกระทำผิด แจ้งข้อมูลที่แอปพลิเคชั่น DLD 4.0 หรือสายตรงผู้บริหารกรมโดยตรง
   พร้อมทั้งได้นำระบบ Zoning และ Compartment มาใช้ในการป้องกันโรคระบาดในสัตว์ และเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการค้า ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพและสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและประเทศคู่ค้า อีกทั้งปัจจุบัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 เริ่มคลี่คลาย รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ เปิดให้ร้านอาหาร ศูนย์อาหาร สามารถนั่งรับประทานอาหารได้ ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ราคาสุกรเดิมที่เคยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากมาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้านและศูนย์อาหาร มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ได้มีขบวนการของผู้ไม่หวังดี ปล่อยข่าวการเกิดโรคระบาดในสุกร หวังผลให้ราคาตกต่ำแล้วซื้อทำกำไร ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการทำร้ายเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยเฉพาะรายย่อย ที่พึ่งเริ่มฟื้นตัวจากราคาสุกรที่เริ่มดีขึ้น จึงขอให้หยุดการกระทำดังกล่าวเสียในทัน ไม่เช่นนั้น กรมปศุสัตว์จะมีมาตรการดำเนินการโดยเด็ดขาดต่อไป
 
CR : กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตร และ สหกรณ์
แชร์

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้แก่ท่านได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงทำให้สามารถมอบข้อเสนอ กิจกรรมส่งเสริมการขาย เลือกเนื้อหาให้เหมาะสมแก่ท่านอย่างเป็นส่วนตัวได้ การเก็บและใช้งานคุกกี้สามารถศึกษาได้ที่นโยบายการใช้คุกกี้นี้ การใช้งานเว็บไซต์นี้จะมีการจัดเก็บคุกกี้ประเภทต่าง ๆ ซึ่งท่านต้องยอมรับและยินยอมให้บริษัทฯ จัดเก็บ. (เรียนรู้เพิ่มเติม)