Logo-CPF-small-65png

รวมพลังต้านภัย ASF ตอนที่ 2 : แนวทางป้องกันและควบคุมโรค

รวมพลังต้านภัย ASF ตอนที่ 2 : แนวทางป้องกันและควบคุมโรค

ข้อมูลในเชิงวิชาการพบว่าโรคระบาด ASF ที่พบได้ทุกประเทศทั่วโลก มักเกิดกับผู้เลี้ยงหมูรายย่อยหรือผู้เลี้ยงหมูที่ไม่มีระบบการป้องกันโรคทีดีก่อนเสมอ  ดังได้กล่าวแล้วในบทความที่ 1 ดังนั้นหากมีคำถามว่าในฐานะผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจหมูของประเทศ พวกเราจะช่วยผู้เลี้ยงหมูรายย่อยให้ปลอดภัยได้อย่างไร เพราะเมื่อมีผู้เลี้ยงหมูรายย่อยติดโรค ความเสี่ยงก็จะเกิดกับผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในเมื่อเราท่านทราบดีผู้เลี้ยงหมูรายย่อยเหล่านั้นล้วนขาดความพร้อมทั้งด้าน การเข้าถึงข้อมูล งบประมาณ และองค์ประกอบพื้นฐานด้านการป้องกันโรค จากคำถามที่ท้าทายแบบนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีทางออก เพียงแต่ทางออกนั้นต้องอาศัยผู้เลี้ยงหมูมีความพร้อมมากกว่า หรือผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจหมู เขาไปให้ความช่วยเหลือตามแนวทางดังนี้

เริ่มต้นจากต้องผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจฟาร์มหมูต้องร่วมกันไปให้องค์ความรู้กับผู้เลี้ยงหมูรายย่อยให้ทำในสิ่งที่ตัวตัวผู้เลี้ยงหมูรายย่อยเองทำได้เป็นเบื้องต้นด้านการป้องกันโรค ในเรื่องต่อไปนี้

  • ไม่ใช้เศษอาหารจากครัวเรือนเลี้ยงหมู เพราะเศษอาหารเหล่านี้อาจมีเนื้อหมูที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรคหรือหากจำเป็นต้องใช้ต้องต้มให้เดือดอย่างน้อย 30 นาที
  • เมื่อผู้เลี้ยงหมูรายย่อยออกไปทำธุระภายนอกฟาร์ม ก่อนเข้ามาเลี้ยงหมูต้องอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้าและรองเท้า ก่อนเสมอ
  • ไม่ให้คนภายนอกเข้าเล้าหมูตนเองโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อค้าซื้อหมู โดยอาจเจรจาตกลงซื้อขายด้วยแอบปิเคชั่นบนมือถือ
  • ไม่ให้รถรับซื้อหมูและคนซื้อหมูเข้ามาถึงในเล้าโดยอาจใช้วิธีการต้อนหมูให้ห่างจากเล้าเพื่อไปขึ้นรถจับหมูโดยเจ้าของเล้าต้องไม่ไปสัมผัสกับรถที่มาซื้อหมู
  • ไม่ซื้อหมูจากพื้นที่มีความเสี่ยงจากโรคระบาดเข้ามาเลี้ยง อีกทั้งไม่ซื้อเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์เนื้อหมูจากภายนอกมาบริโภคในฟาร์ม
  • งดการขายมูลหมูจากรถรับซื้อที่ไปรับซื้อมูลจากหลายๆ ฟาร์มในช่วงเวลาการระบาดของโรค
  • ระมัดระวังการไปซื้อหัวอาหาร เช่น รำ และปลายข้าว จากโรงสีที่ทำธุรกิจเลี้ยงหมูในกรณีที่ฟาร์มและโรงสีอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพราะหัวอาหารเหล่านั้นอาจปนเปื้อนเชื้อโรคได้ หรืออาจติดเชื้อต่อเนื่องจากผู้เลี้ยงหมูรายย่อยอื่นที่เข้าไปรับซื้อหัวอาหารจากแหล่งเดียวกัน
  • แจ้งปศุสัตว์ทันทีหากมีหมูตายเฉียบพลันหรือป่วยด้วยอาการไข้สูง ไอ แท้ง ขาหลังไม่มีแรง นอนสุมและท้องเสียเป็นเลือด มีจุดเลือดออกหรือรอยช้ำบริเวณใบหู ท้อง และขาหลัง และห้ามขายหมูป่วยและตายออกออกจากฟาร์มโดยเด็ดขาดหากยังไม่ผ่านการตรวจสอบยืนยันโรค

ส่วนผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจหมู ควรให้ความช่วยเหลือผู้เลี้ยงหมูรายย่อยในการป้องกันโรคและควบคุมเพื่อลดการแพร่กระจายโรคในพื้นที่ต่างๆ  ได้ดังนี้

  • ผู้ประกอบการเลี้ยงหมูทุกรายที่มีหมูแสดงอาการที่ต้องสังสัยว่าติดโรค เช่นมีอาการไข้สูง ไอ แท้ง ขาหลังไม่มีแรง นอนสุมและท้องเสียเป็นเลือด มีจุดเลือดออกหรือรอยช้ำบริเวณใบหู ท้อง และขาหลัง หรือมีหมูตายฉัยบพลันแบบไม่ทราบสาเหตุ และตรวจสอบยืนยันพบว่าหมูติดโรค ต้องไม่ขายหมูออกจากฟาร์มเพื่อไปชำแหละโดยเด็ดขาด เพราะหมูที่ใกล้ชิดกับหมูป่วยอาจติดโรคไปแล้ว การขายหมูออกไปก็เท่ากับการแพร่เชื้อโรคไปตามที่ต่างๆ ผ่านทางเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมู ท้ายสุดฟาร์มหมูอื่นๆ ก็ตกอยู่ในความเสี่ยงจากการติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมูรายย่อย หากเทียบโรคโควิด-19 การขายหมูที่ต้องสงสัยว่าติดโรคออกไป ก็คล้ายกับการปล่อยคนป่วยด้วยโควิด-19 ที่อาจแสดงอาการไม่รุนแรงแต่แพร่เชื้อได้ออกไปปะปนกับคนในสังคม ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงที่สูงมาก
  • ปศุสัตว์จังหวัดในแต่ละเขตพื้นที่ ควรติดตามให้ให้ผู้เลี้ยงรายย่อยจนทะเบียนการเลี้ยงสัตว์ในระบบ E-Smart Plus ให้ครบถ้วน เพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงและการให้ข้อมูลเพื่อการป้องกันและควบคุมโรค อีกทั้งเป็นประโยชน์ในการติดตามการแพร่ระบาดของโรค นอกจากกนี้ต้องจดทะเบียนผู้ขนส่งสุกรทุกรายร่วมด้วย เพราะเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการแพร่กระจายโรค และควรให้ข้อมูลการป้องกันและควบคุมโรคกับบุคลากรผู้ขนส่งหมูเหล่านี้ เช่นกัน
  • ปศุสัตว์ในแต่ละเขตพื้นที่จะมีโปรแกรมสุ่มตรวจโรค ในฟาร์มที่มีความเสี่ยงสูง รวมทั้ง โรงชำแหละหมู จุดจำหน่ายเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์เนื้อหมู ร้านจำหน่ายอาหารสัตว์อย่างสม่ำเสมอและควรแจ้งผลการตรวจเพื่อการเฝ้าระวังโรค โดยผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนก็ควรให้ความร่วมมือ เพื่อให้ฟาร์มทั่วไปตระหนักว่าหากมีเชื้อโรคเข้ามาในพื้นที่แล้วต้องระวังให้มากขึ้น หากผู้เลี้ยงรายใดทราบว่าถ้าตนไปสัมผัสกับแหล่งที่ให้ผลบวก ก็ต้องเฝ้าระวังก่อนกลับเข้าฟาร์ม
  • ผู้ขายอาหารให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยหรือโรงงานอาหารสัตว์ควรหามาตรการส่งอาหารให้เกษตรกรในพื้นที่นอกเขตฟาร์ม เพราะการที่ผู้ขนส่งอาหารไปส่งอาหารในหลายๆ ฟาร์ม อาจพลาดขับรถเข้าไปในฟาร์มที่เป็นโรคโดยไม่ทราบ ดังนั้นหากปล่อยให้เขาเหล่านี้ ขับรถเข้ามาในพื้นที่ฟาร์มโดยไม่ผ่านการฆ่าเชื้อที่เหมาะสม รถคันนั้นอาจเป็นพาหะนำเชื้อโรคมาแพร่สู่ฟาร์มได้ ดังนั้นการลงอาหารให้นอกพื้นที่ฟาร์ม ก็จะเป็นการลดการสัมผัสเชื้อโรคอีกช่องทางหนึ่ง
  • ผู้รับซื้อหมูจากผู้เลี้ยงหมูรายย่อยต้องนำรถขนส่งไปล้างฆ่าเชื้อตามจุดที่ปศุสัตว์หรือสมาคมผู้เลี้ยงหมูกำหนดไว้ให้ และรับบัตรยืนยันการล้างฆ่าเชื้อก่อนนำรถไปรับซื้อหมูที่ฟาร์มต่อไป เพื่อให้มั่นใจว่ารถขนส่งคันนี้จะไม่เป็นตัวแพร่เชื้อโรคให้ผู้เลี้ยงรายย่อย และผู้เลี้ยงหมูก็ไม่ควรไปสัมผัสรถคันนี้ อาจทำทางเดินหมูเพื่อต้อนหมูให้ห่างออกมาจากเล้า แล้วให้คนมารับซื้อจับหมูไปแบบเจ้าของเล้าไม่สัมผัสกับคนมารับซื้อหมูและรถขนส่งหมู และทุกครั้งที่ผู้เลี้ยงหมูคิดว่าตัวเองมีความเสี่ยง ให้อาบน้ำ และเปลี่ยนเสื้อผ้าและรองเท้าก่อนเข้าเล้าไปเลี้ยงหมูในเล้าเสมอ ซึ่งปกติดขั้นตอนนี้จะปฏิบัติกันอย่างจริงจังในฟาร์มขนาดใหญ่ แม้กระทั้งการสร้างเล้าขายกลาง เพื่อป้องกันรถขนส่งจากภายนอกที่มีความเสี่ยงเข้าไปถึงฟาร์ม และที่สำคัญคนที่ทำงานในฟาร์มก็ไม่มีโอกาสมาสัมผัสรถที่มีความเสี่ยงจากภายนอก โดยจะนำรถที่สะอาดผ่านการพ่นยาฆ่าเชื้อขนส่งหมูมาที่เล้าขายกลาง และส่งหมูในจุดที่แยกกับที่รถภายนอกที่มารับซื้อหมู
  • ผู้ขายพันธุ์สัตว์ให้กับผู้เลี้ยงรายย่อยต้องมั่นใจว่าฟาร์มตนเองปลอดจากโรค โดยการสุ่มตรวจสุขภาพหมูในฟาร์มอย่างสม่ำเสมอ ช่วงใดที่พบว่าฟาร์มตนเองมีหมูตายผิดปกติ ก็ควรหยุดการขายหมูพันธุ์ชั่วคราวและตรวจสอบให้มั่นใจว่าปลอดจากโรค เพระต้องระลึกเสมอว่าผู้เลี้ยงหมูรายย่อยจะไม่มีเล้ารับสุกรทดแทนที่ฟาร์มใหญ่ๆ มักจะมีกันที่เรียกกว่าเล้ากักโรค เพื่อใช้ตรวจสอบก่อนว่าหมูที่รับมาปลอดโรคก่อนนำเข้าไปรวมฝูง ส่วนผู้เลี้ยงหมูรายย่อยมักไม่มีเล้ากักโรค ดังนั้การทดแทนหมูทุกครั้งก็จะมีความเสี่ยงที่อาจรับโรคใหม่ ๆ เข้าฝูง ดังนั้นผู้ขายหมูพันธุ์ให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยจึงต้องให้ความช่วยเหลือในส่วนนี้
  • ผู้ให้บริการรถขนส่งหมูไปยังต่างพื้นที่ หรือขนส่งหมูเพื่อการส่งออก หลังการขนส่งควรนำรถไปล้างฆ่าเชื้อตามจุดบริการของปศุสัตว์ในแต่ละพื้นที่ หรือที่ทางสมาคมผู้เลี้ยงหมูหรือฟาร์มหมูจัดไว้ให้ โดยควรมีใบรับรองการล้างฆ่าเชื้อรถขนส่งก่อนไปรับหมูเที่ยวต่อไป ทั้งนี้ก็เพื่อให้มั่นใจว่ารถขนส่งคันนี้จะไม่เป็นตัวพาเชื้อโรคไปตามฟาร์มต่างๆ
  • ฟาร์มหรือผู้ประกอบการที่ต้องส่งหมูทุกชนิดออกไปในทุกเขตพื้นที่ควรทำตามมาตรการการตรวจสอบของกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด และในกรณีที่ฟาร์มต้นทางมีหมูตายผิดสังเกตในช่วง 15 วันก่อนส่งก็ควรระงับการส่งออกหมูชั่วคราวเพื่อการตรวจสอบว่าฟาร์มปลอดจากโรค ควบคู่กับฟาร์มปลายทางก็ควรต้องมีเล้ากักโรคและตรวจสอบอีกครั้ง
  • ผู้ประกอบการโรงชำแหละ ต้องจัดจุดล้างและพ้นยาฆ่าเชื้อไว้บริการสำหรับรถขนส่งหมูทุกคันที่ขนส่งหมูเข้ามาและออกจากโรงชำแหละ เพราะจุดนี้จะมีหมูจากหลายแหล่งมารวมกัน ถ้ามีหมูแหล่งใดป่วย เชื้อโรคอาจปนเปื้อนไปกับรถขนส่งที่จะไปรับหมูเที่ยวต่อไป และแพร่เชื้อสู่ฟาร์มหมูได้ ดังนั้นหลังการลงหมูทุกครั้ง รถที่จะออกจากโรงชำแหละจะต้องผ่านการล้างทำความสะอาด และพ่นยาฆ่าเชื้อเพื่อให้มั่นใจว่ารถคันนี้จะปลอดเชื้อโรคก่อนขนส่งสุกรเที่ยวต่อไป
  • ผู้ประกอบการฟาร์มหมูที่มีเล้าหมูมากกว่า 2 ขึ้นไป มีข้อแนะนำว่าไม่ควรรับซื้อหมูจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงโรค นอกจากนั้น หลังรับหมูขุนเข้าเลี้ยงภายใน 15 วันแรก ควรแยกคนเลี้ยงและอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งหมด เปรียบเสมือนเป็นการกักโรคเช่นเดียวกับกรณีสงสัยว่าคนในครอบครัวติดโควิด-19 ที่ต้องอยู่แยกห้องกัน โดยกรณี ASF ควรกักโรคแบบแยกเป็นระยะอย่างน้อย 15 วันตามระยะฝักโรค ซึ่งหากในช่วงเวลานี้มีหมูแสดงอาการตายเฉียบพลัน ซึ่งมักเป็นอาการเริ่มต้นของโรค จะต้องตรวจสอบยืนยันโรคเสมอ เพราะว่าหากพบโรคได้เร็วและยังใช้มาตรการกักโรคอยู่ หมูกลุ่มอื่นๆ ในฟาร์มอาจยังไม่ติดเชื้อ ซึ่งในทางวิชาการก็มีวิธีการตรวจสอบยืนยันการปลอดโรคได้เช่นกัน
  • กรมปศุสัตว์ สมาคมผู้เลี้ยงหมูและผู้ประกอบการเลี้ยงหมู ควรทำแผนฉุกเฉินร่วมกันกรณีที่มีการแพร่ระบาดของโรคไปในวงกว้างในผู้เลี้ยงรายย่อย เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านอัตรากำลังคน กำลังทรัพย์ และกำลังใจ เพื่อสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและควบคุมโรค

จากมาตรการที่กล่าวมา หากได้นำไปปฏิบัติหรือดัดแปลงไปใช้ให้ตรงบริบทกับหน้างาน คงพอจะช่วยป้องกันและควบคุมโรค ได้ในระดับหนึ่ง อย่างที่ได้เรียนในบทความก่อนขอให้ผู้เกี่ยวข้องทุกท่านตระหนักแต่อย่าถึงขนาดตระหนกจนทำให้ธุรกิจหมูในภาพรวมเดินต่อไปไม่ได้  ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนจะทำให้ “ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยต้องอยู่ได้ ผู้เลี้ยงหมูรายกลางและรายใหญ่ต้องอยู่รอด”

น.สพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์

รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านบริการวิชาการสุกร บริษัท ซีพี่เอฟ ( ประเทศไทย) จำกัด ( มหาชน)

 

อ่านบทความย้อนหลัง เรื่องรวมพลังต้านภัย ASF ได้ที่นี่เลยครับ

Home

คู่มือการเลี้ยงสัตว์ ดาวน์โหลดฟรี

แชร์

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้แก่ท่านได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงทำให้สามารถมอบข้อเสนอ กิจกรรมส่งเสริมการขาย เลือกเนื้อหาให้เหมาะสมแก่ท่านอย่างเป็นส่วนตัวได้ การเก็บและใช้งานคุกกี้สามารถศึกษาได้ที่นโยบายการใช้คุกกี้นี้ การใช้งานเว็บไซต์นี้จะมีการจัดเก็บคุกกี้ประเภทต่าง ๆ ซึ่งท่านต้องยอมรับและยินยอมให้บริษัทฯ จัดเก็บ. (เรียนรู้เพิ่มเติม)