Logo-CPF-small-65png

ไขรหัส CPF บุกตลาดหมูจีน ฝ่าวงล้อม “อหิวาต์แอฟริกัน”

    ปี 2563 จะเรียกว่าเป็นปีทองสุกร (หมู) ของไทยก็ว่าได้ ด้วยยอดการส่งออกที่เติบโตหลัก 100% ไม่ใช่ตัวเลขที่จะพบเห็นได้ง่าย ๆ เพราะเป็นจังหวะที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต้องเผชิญปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ส่วนไทยก็ต้องเผชิญกับโรค PRRS แต่นั่นกลับทำให้ “เครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร” รุกหนักในธุรกิจหมู ทั้งในและต่างประเทศ

โดยเฉพาะการลงทุนเข้าซื้อธุรกิจหมูในจีนระหว่าง Chia Tai Investment (CTI) และ Chia Tai Animal Husbandry Investment (Beijing) ทำให้ฐานผลิตสุกรซีพีเอฟจะขยับใหญ่ขึ้น เป็นอันดับ 4 ในตลาดจีน “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ” ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF

ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF

Q : เล่าถึงการลงทุนหมูที่จีน

จีนเป็นตลาดใหญ่มาก ผู้เล่นรายใหญ่ไม่มีเลย รายที่ใหญ่สุดในจีนมีมาร์เก็ตแชร์แค่ 4% ผลิตได้ 20 ล้านตัวต่อปี ผมว่าเอา 5 รายใหญ่รวมกัน มาร์เก็ตแชร์ยังไม่ถึง 10% รายย่อยเยอะมาก 80% ขณะที่การบริโภคปีละ 500 ล้านตัว พอเราเข้าไปลงทุนวันนี้เราอยู่อันดับ 4 หรือ 5 เราเร่งสปีดเต็มที่ต้องไปสร้างฟาร์ม เพราะส่งไปไม่ได้ต้องเริ่มจากว่าไปหาที่ดิน เจรจา สร้างแต่ละวง ๆ มันไม่เร็ว แต่เชื่อว่าด้วยเทคโนโลยีที่มีน่าจะทำได้

Q : ที่ไปลงทุนทำหมูครบวงจรที่จีนศูนย์กลางการระบาดต้องไปวางระบบอะไรบ้าง

ทำทั้งหมดเหมือนกันเลย ที่นั่นเลี้ยงไม่เยอะมาก จีนที่เชื้อแพร่ระบาดแรงมากเพราะเป็นหมูหลังบ้าน ประเทศไทยสมัยก่อน แต่จีนแอดวานซ์เรื่องเทคโนโลยี

Q : เดิมซีพีเอฟทำอาหารสัตว์ในจีน

ครับ เป็นต้นทางเลย เป็นบริษัทเก่าของเรา ถ้าเผื่อเทียบเราอาจไม่ได้เปรียบคนจีนเท่าไร แต่ว่าเวลาที่เราไปดีลกับราชการเรามีชื่อเสียงที่ดีมากในเชิงคุณภาพ เช่น จะไปขยายพื้นที่ ทางจีนให้การยอมรับ แต่บอกว่าทำให้ดี และจะทำให้เร็วได้อย่างไร

“การรวบรวมธุรกิจหมูในจีน ให้อยู่ภายใต้ชื่อชื่อหนึ่งเป็นเรื่องกฎหมาย เรื่องสตรักเจอร์ เพราะผมเข้าใจว่าในอดีตกฎหมายอาจจะให้แต่ละคนจดกันเอง เมื่อระบบกฎหมายเขาเปลี่ยนไป เราก็รวบรวมมาอยู่ภายใต้ชื่อหนึ่ง ก็ซื้อแอคเซสมาทั้งหมด มีพื้นฐานอยู่แล้ว เราไม่ได้เนรมิต แต่วันนี้เราต้องไปเนรมิตเพิ่ม”

Q : เป้าหมายสู่เบอร์ 1 ในจีน

ปีนี้ต้องไปให้ได้ 6-7 ล้านแม่หมูขุน ตั้งเป้าว่าภายใน 3-4 ปีจะได้ 20 ล้านตัว ตลาดจีนเป็นตลาดที่เราจะมุ่งไป เพราะว่าในจีนมีแต่รายย่อย ถึงอย่างไรรายย่อยก็ต้องลดลง แต่ปัญหาคือรายใหญ่ 5 บริษัทในจีน ใครจะขยายได้เร็วกว่ากัน

ถ้าตลาดจีนทั้งตลาดมีความต้องการ 500 ล้านตัว วันนี้เราแค่ 7 ล้านตัว เบอร์ 1 ก็ 20 ล้านตัว ตลาดมหาศาลแต่ด้วยเทคโนโลยีเราเร็วก็จริง แต่สปีดการเรียนรู้ของจีนก็เร็วมาก และสไตล์ทุนจีนก็เป็นสไตล์เถ้าแก่ พอเป็นปุ๊บลงทุนเลยแต่ก็ต้องไปเจรจาไปหาที่ดิน และทุกคนเร่งสปีดหมด มันขึ้นอยู่กับว่าใครจะสปีดได้ไวกว่ากัน ซึ่งการขยายฟาร์มในจีนก็จะคล้าย ๆ เหมือนไทย

Q : การผลิตในจีนจะครบวงจร

เมื่อมีอาหารสัตว์ ฟาร์ม และผลิตขายจะมีทั้งขายสด และแปรรูปด้วย เรามีโรงงานแปรรูปด้วย ขึ้นอยู่กับลูกค้า ซึ่งทั้งหมดที่ผลิตได้จะขายในเมืองจีน ไม่ส่งออก เพราะขายในเมืองจีนแทบไม่พออยู่แล้ว หมูในเมืองจีนขาดเยอะ เพราะโรค ASF นั้นทำให้ราคาหมูในเมืองจีนแพงกว่าไทยมหาศาล เมืองไทย กก. 150 บาท หมูจีนราคาเกือบ 300 บาท 100%

“จะเรียกว่าบุกหนักเรื่องหมูไหม คือเผอิญว่าโชคดี เอาจริง ๆ หลักคิดเริ่มต้นมันถูก และตอนนี้โรงงานหมูเข้ายากมาก เพราะว่าไทยยิ่งมีโรคเพิร์สยิ่งเป็นห่วง ห้ามยาก อหิวาต์หมูก็อีกเรื่องหนึ่ง เป็น 2 เรื่อง การป้องกันการแพร่ระบาดต้องมีการพัฒนาระบบการเลี้ยง สร้างความปลอดภัยและมาตรฐานสูง”

Q : ซีพีเอฟป้องกัน ASF อย่างไร

หมูที่อยู่ในรถ 1 คัน อยู่ในฟาร์มห้ามออกไปข้างนอก จะมีจุดรับถ่ายของ รถที่ขนหมูมาข้างนอก ก็ห้ามเข้าไปข้างใน ต้องเพิ่มรถ เพราะรถจะให้ใช้เฉพาะพื้นที่นี้เท่านั้น ขับออกจากพื้นที่นี้ ไปตรงนี้ใช้รถแค่ตรงนี้เท่านั้น ไปแต่ละจุดวางแผนกระจาย ค่าล้างรถขึ้นค่าน้ำยา 100% ล้างรถเช็กคนทุกคันที่เข้าออกทุกที่ ค่าน้ำยาขยับเกิน 100% ไม่รวมถึงมุ้ง ที่เราปิดมุ้งทั้งหมดในอาคารจากเดิมไม่มีมุ้ง ที่มากางมุ้งเพราะเรามารู้จากฐานผลิตที่รัสเซียว่า ยุงคือตัวที่ทำให้เกิด ASF จากยุงไปกัดหมูป่า แล้วก็มากัดหมูในเมืองที่รัสเซีย เราก็เลยทำมุ้งมา 2 ปีกว่าแล้ว

และตอนนี้มุ้งไม่พอ จะต้องติดกล้องที่ซูมได้ให้ครอบคลุม 5,000 จุด ไม่ให้คนเข้าไป ให้ดูจากมือถือเอาว่าหมูป่วยหรือไม่ ถ้าไม่ป่วยก็อย่าเอาคนเข้าไปนี่เป็นระบบเทคโนโลยี ซึ่งถ้ารวมระบบ biosecurity จะยิ่งกว่านี้ เพราะเป็นระบบพื้นฐาน นอกจากนี้ แยกโซนพื้นที่ วิธีการทำคือคุณใส่เสื้อคนละสี ถ้าใครอยู่โซนนี้ ทำหน้าที่ตรงจุดนี้ ให้ใส่เสื้อสีนี้ ห้ามข้ามโซน คุมการระบาดได้ง่าย

ถ้าสมมุติว่ามีเชื้อ จะทำให้เราก็รู้ได้เร็วว่ามาจากโซนไหน ระบบเหมือนโควิดเลยถ้าไปโรงเชือดรวม ทุกฟาร์มรวมกันติดต่อกันได้ เราต้องทำความสะอาดทั้งหมด ส่วนเพิร์สโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่นทุกคนรู้วิธีป้องกัน เผอิญธุรกิจหมูในไทยต่างจากจีน เพราะเป็นธุรกิจที่มีรายใหญ่และรายกลางเยอะ รายย่อยไม่เยอะ รายกลางก็หลายร้อยล้านเป็นมูลค่าหลายร้อยล้าน

 

นอกจากนี้ เรามีผู้เลี้ยงที่เป็นลูกค้าของเรา ซื้ออาหารของเราแล้วไปเลี้ยงเอง พวกรายกลาง เราก็บอกเขาป้องกันให้ความรู้หมดทุกคน แต่นี้ประมาณ 15% ของตลาดที่อาจจะซื้อลูกหมูของเราไป แล้วไปเลี้ยงเอง แล้วไปขายข้างนอก ก็โดนไม่เยอะ เพราะก็แบ่งความรู้ให้ มีสัตวแพทย์ที่ดูแลฟาร์มเราไปช่วยเขา

Q : ต้นทุนการเลี้ยงเพิ่ม

เพิ่มแต่มันคุ้มกับการลงทุน เพราะสามารถลดเวลาของสัตวแพทย์ ซึ่งจะไปเข้าฟาร์มเฉพาะที่มีปัญหา

Q : อนาคตสู่คอมพาร์ตเมนต์

ตอนนี้ทุกคนไม่ใช่เฉพาะเราก็ขยายหมด ปรับปรุงการเลี้ยง ทุกคนพยายามวิ่งไปสู่คอมพาร์ตเมนต์ แต่วิธีการจัดฟาร์มของแต่ละคนจะไม่เหมือนกันเท่าไร ฉะนั้น เวลาเราทำฟาร์มหมู เราก็เช่าด้วย เช่าส่วนหนึ่ง ทำเองส่วนหนึ่ง เช่า คือ จ้างเลี้ยงส่วนหนึ่ง เช่าที่เช่าทรัพย์สินส่วนหนึ่ง ระบบการดูแลเหมือนโควิดเลย เพียงแต่เชื้ออาจจะแรงกว่าโควิด

Q : อนาคตโครงสร้างธุรกิจหมู-หมูแผงลอย หมูห้องแถว

ฟาร์มย่อย ๆ หรือโรงชำแหละที่ไม่ได้มาตรฐาน สมมุติกินไก่และหมู 1 กก.เท่ากัน ขายหมูได้เกือบสองร้อยบาท ขายไก่ได้แค่ห้าสิบบาท ถ้ากำไรเท่ากัน หมูก็เยอะกว่า ฉะนั้น คนจึงหันมาทำหมู ซีพีเอฟทำดีที่สุด ในเชิงคุณภาพ

“เราไม่ห่วงเรื่องการแข่งขันรายย่อย-รายใหญ่ เราก็เน้นของคุณภาพไปเรื่อย ๆ ผมเชื่อว่าอย่างไรก็ตาม ในอนาคตธุรกิจหมูรายย่อยไม่หายไป เกษตรกรในฟาร์มไม่ได้กระจอก เขาเป็นเจ้าของพื้นที่”

 

แชร์

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้แก่ท่านได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงทำให้สามารถมอบข้อเสนอ กิจกรรมส่งเสริมการขาย เลือกเนื้อหาให้เหมาะสมแก่ท่านอย่างเป็นส่วนตัวได้ การเก็บและใช้งานคุกกี้สามารถศึกษาได้ที่นโยบายการใช้คุกกี้นี้ การใช้งานเว็บไซต์นี้จะมีการจัดเก็บคุกกี้ประเภทต่าง ๆ ซึ่งท่านต้องยอมรับและยินยอมให้บริษัทฯ จัดเก็บ. (เรียนรู้เพิ่มเติม)